x
เมื่อคนเราหมดสติ ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุจากโรคที่เกี่ยวกับหัวใจจนทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยงสมองและส่วนต่างๆพอ หรือจากสาเหตุอื่นๆนั้น 2 สิ่งสำคัญคือ “ยังมีลมหายใจ” และ “หัวใจยังเต้น” ซึ่งจะเป็น 2 สิ่งที่ทำให้ชีวิตยังคงอยู่
ฉะนั้นหลัก “การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน” จึงเน้นไปที่ 2 อย่างนี้ ซึ่งคนที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น และภาวะหยุดหายใจนั้น หากได้รับการช่วยชีวิตพื้นฐานอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก่อนนำส่งแพทย์ ก็ยังมีโอกาสฟื้นกลับมามีชีวิตปกติได้
เมื่อเราพบคนสลบ เป็นลม หมดสติไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว คนใกล้ตัว หรือใครก็ตาม มีขั้นตอนต่างๆที่ต้องทำต่อไปนี้
ตบแรงๆที่ไหล่ เรียกดังๆว่ายังมีสติหรือไม่ อย่าขยับร่างกายผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
เรียกคนใกล้เคียงมาช่วยเหลือ เช่นอาจให้อีกคนให้โทรเรียก 1669 ซึ่งเป็นสายด่วนเรียกรถพยาบาลได้ทุกจังหวัด โดยรายงานรายละเอียด ผู้ป่วยและสถานที่ที่เกิดเหตุให้ครบ (ก่อนลงมือช่วยชีวิตให้ดูว่าสถานที่นั้นปลิดภัยต่อการทำ CPR ) ส่วนอีกคนลงมือช่วยชีวิตเบื้องต้น และอีกคนประเมินโดยดูการเคลื่อนไหวของทรวงอก และหน้าท้องว่ามีการยกตัวขึ้นหรือไม่ หรือ หายใจหรือไม่ และเอียงหูของผู้ช่วยเหลือเข้าไปใกล้บริเวณจมูกและปากของผู้ป่วย ว่าได้ยินเสียงอากาศผ่านออกมาทางจมูกหรือปากหรือไม่
จัดท่าให้ผู้หมดสตินอนหงายบนพื้นราบและแข็ง แขนสองข้างเหยียดข้างลำตัว ไม่บิดไปมา
ถ้าผู้หมดสติไม่ไอ ไม่หายใจ ไม่ขยับ หัวใจหยุดเต้น ไม่มีสัญญาณชีพ ให้วางสันมือข้างหนึ่งที่ครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก แล้วนำมืออีกข้างวางทาบไปบนมือแรก แล้วกดหน้าอกทันที แต่ระวังอย่ากดถูกกระดูกซี่โครงซึ่งอาจหักได้ (ถ้าเป็นทารกไม่เกิน 1 ขวบ ให้ใช้เพียง 2 นิ้วคือนิ้วชี้กับนิ้วกลาง กดกลางหน้าอกใต้ราวนมเล็กน้อย)
เป้าหมายเพื่อให้ระบบไหลเวียนเลือดยังทำงาน แม้หัวใจจะหยุดเต้น โดยกดให้ยุบลงราว 2 นิ้ว (หรือ 1.5 นิ้วสำหรับทารก) แล้วปล่อย กดแล้วปล่อย ทำติดต่อกัน 30 ครั้ง ให้ได้ความถี่อย่างน้อย 100 ถึง 120 ครั้งต่อนาที หรือราววินาทีละ 2 ครั้ง
ดันหน้าผากผู้หมดสติลงเบาๆพร้อมประคองยกคางขึ้น เพื่อเป็นการเปิดลมหายใจให้โล่ง
เป่าลมเข้าปอด 2 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลา 1 วินาทีเต็ม โดยต้องเห็นผนังทรวงอกผู้หมดสติขยับขึ้นจากการเป่าลมนั้น
ทั้งหมดนี้ ให้ทำจนกระทั่งผู้หมดสติมีความเคลื่อนไหว หรือไอ หรือมีบุคลากรทางการแพทย์มารับช่วงต่อ หรือมีผู้นำเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AED) มาถึง ซึ่งเราจะมาทำความรู้จักในตอนหน้าต่อไป
แหล่งข้อมูล
หนังสือ “คู่มือการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน และเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (เออีดี:AED) สำหรับประชาชน พ.ศ.2559”