ประวัติความเป็นมา

มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ถือกำเนิดมาจากความคิดริเริ่มของสมาชิกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยที่สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ซึ่งได้รับการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2510 ได้กระทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ ในหมู่สมาชิก และจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ในหมู่แพทย์ มีการประชุมวิชาการ ส่งเสริมการวิจัยเรื่องโรคหัวใจ เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชนผ่านสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ รวมถึงการติดต่อจากต่างประเทศสมาชิกของสมาคมฯ ตระหนักถึงภาระความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยโรคหัวใจที่ยากจน และเห็นว่าการก่อตั้งมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย จะทำให้สามารถหาทุนได้มากขึ้น และจะสามารถขยายงานช่วยเหลือผู้ป่วยได้กว้างขวางขึ้นนอกจากนั้นการก่อตั้งมูลนิธิหัวใจ เพื่อส่งเสริมงาน ของสมาคมแพทย์โรคหัวใจก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติกันในหมู่ประเทศสมาชิกของสหพันธ์ สมาคมแพทย์โรคหัวใจนานาชาติ (International Society and Federation of Cardiology) ดังนั้นในการประชุมใหญ่วิสามัญ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2524 จึงได้มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้จัดตั้ง มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยขึ้น โดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ บริจาคเงิน จำนวน 200,000 บาท เป็นทุนเริ่มต้นในการก่อตั้ง มูลนิธิหัวใจฯ และได้รับการจดทะเบียนอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2525 โดยมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า The Heart Foundation of Thailand และได้รับการรับรองจากสหพันธ์สมาคมแพทย์โรคหัวใจนานาชาติ เมื่อปี พ.ศ. 2528 ในปี 2545 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระมหากรุณาให้มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2545

วัตถุประสงค์ของมูลนิธิ

  1. ส่งเสริม และปฏิบัติการ เพื่อป้องกันและรักษาโรคหัวใจและโรคอื่นอันจะนำอันตรายหรือความพิการมาสู่หัวใจ
  2. ส่งเสริม เผยแพร่ อบรม เพิ่มเติมความรู้ ความสามารถ แก่แพทย์ พยาบาล และผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับหัวใจ
  3. ส่งเสริมและให้ทุนอุดหนุนการวิจัยเกี่ยวกับหัวใจ โรคหัวใจ การป้องกันและรักษาโรคหัวใจ
  4. ช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจ หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ ซึ่งจะทำให้หัวใจพิการให้ได้เข้ารับการรักษาตามความเหมาะสม
  5. ร่วมมือส่งเสริมและประสานงานกับสถาบันอื่นทั้งในและนอกประเทศเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินี้ และเพื่อสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง

รายพระนาม และรายนามคณะกรรมการบริหาร

สมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ

  1. 1. ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวนิชที่ปรึกษากิตติมศักดิ์
  2. 2. ศาสตราจารย์นายแพทย์ปริญญา สากิยลักษณ์รองประธานกรรมการคนที่ 1
  3. 3. คุณวัลลภ เจียรวนนท์รองประธานกรรมการคนที่ 2
  4. 4. ศาสตราจารย์นายแพทย์ศุภชัย ไชยธีระพันธ์เลขาธิการ
  5. 5. คุณธัญญา สุรัสวดีเหรัญญิก
  6. 6. แพทย์หญิงคุณสวรรยา เดชอุดมกรรมการ
  7. 7. คุณสนั่น อังอุบลกุลกรรมการ
  8. 8. พลเอกนายแพทย์ประวิชช์ ตันประเสริฐกรรมการ
  9. 9. คุณนพมาศ ไวยรัชพานิชกรรมการ
  10. 10. คุณสุพัฒนา อาทรไผทกรรมการ
  11. 11. คุณรัชดา บุลยเลิศกรรมการ
  12. 12. พลเอกนายแพทย์ประสาท เหล่าถาวรกรรมการ
  13. 13. คุณวีรวรรณ เรืองนิวัติศัยกรรมการ
  14. 14. นายแพทย์ประดิษฐ์ชัย ชัยเสรีกรรมการ
  15. 15. พลอากาศตรีนายแพทย์บรรหาร กออนันตกรรมการ
  16. 16. ดร.ประภา เหตระกูล ศรีนวลนัดกรรมการ
  17. 17. คุณมณฑป ผลาสินธุ์กรรมการ
  18. 18. คุณชัยสิทธิ์ วิริยะเมตตากุลกรรมการ
  19. 19. ดร. ธาริษา วัฒนเกสกรรมการ
  20. 20. นายแพทย์เกรียงไกร เฮงรัศมี กรรมการ
  21. 21. พลโทนายแพทย์ชุมพล เปี่ยมสมบูรณ์กรรมการ
  22. 22. นายแพทย์วรรณะ อูนากูลกรรมการ
  23. 23. คุณณรงค์ฤทธิ์ จิราธิวัฒน์กรรมการ
  24. 24. ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์กรรมการ
  25. 25. นายแพทย์ถาวร สุทธิไชยากุลกรรมการ

การดำเนินงานและภารกิจ

มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์ ได้รับการก่อตั้งในปี พ.ศ. 2524 โดยสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปภัมภ์ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยโรคหัวใจได้กว้างขวางและสามารถดำเนินการหาทุนเพื่อใช้ในกิจกรรมของมูลนิธิฯ โดยมีสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นองค์ประธาน มีอดีตนายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ 2 ท่าน เป็นรองประธาน คือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์กษาน จาติกวนิช เป็นรองประธานคนที่ 1 และ นายแพทย์กมล สินธวานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 2 มีกรรมการอำนวยการรวม 12 ท่าน ในฐานะองค์ประธานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จเป็นประธานการประชุมใหญ่สามัญประจำปี เป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.2527 และได้เสด็จต่อเนื่องถึงปัจจุบัน

มูลนิธิฯ มีภาระกิจหลักคือการเผยแพร่ความรู้เรื่องโรคหัวใจให้แก่ประชาชน โดยจัดนิทรรศการโรคหัวใจเป็นประจำทุกปี ปีละหนึ่งครั้ง โดยปีแรกๆ ได้จัดที่โรงพยาบาลราชวิถี ต่อมาใช้สถานที่ธนาคารสำนักงานใหญ่ ศูนย์การค้า งานมอเตอร์โชว์และงานมันนี่เอ็กซ์โป เพื่อให้ประชาชนที่มาจับจ่ายใช้สอยหรือร่วมในงานมหกรรมได้แวะชมนิทรรศการ ซึ่งนอกจากเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนแล้ว ยังมีบริการตรวจโลหิตเพื่อหาระดับไขมันและระดับน้ำตาล การตรวจวัดความดันโลหิต ให้คำแนะนำเพื่อรับการรักษาโรคหัวใจอย่างถูกต้อง มีบริการให้คำปรึกษาเบื้องต้นเรื่องโรคหัวใจ ให้ความรู้เรื่องปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจ จากโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดผิดปกติ มีการสาธิตวิธีช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นกระทันหันจากภาวะโรคหัวใจ ไฟฟ้าดูด จมน้ำ สำลักควันไฟ

ต่อมามูลนิธิฯ ได้จัดตั้งเป็นโครงการช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นกระทันหัน มีการจัดวิทยากรไปช่วยฝึกอบรมให้ประชาชนให้สามารถปฏิบัติได้ในสถานการณ์จริง ซึ่งมักเกิดนอกโรงพยาบาล

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ มีโครงการหลักอื่นๆ ได้แก่ โครงการอาหารไทยหัวใจดี ซึ่งให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องชนิดและคุณภาพของอาหารที่รับประทานประจำวัน และมีการขึ้นทะเบียนตราสัญญลักษณ์มูลนิธิหัวใจฯ

โครงการกระโดดเชือกทางเลือกเยาวชนพ้นโรคหัวใจ ฝึกให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนกระโดดเชือกอย่างถูกวิธีเพื่อการออกกำลังและมีการจัดการแข่งขันชิงถ้วยพระราชทานระดับประเทศ

โครงการหัวใจสัญจร มูลนิธิฯ ร่วมกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ จัดทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจออกไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ในท้องถิ่นห่างไกลซึ่งไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยตรวจและให้การวินิจฉัยโรคหัวใจอย่างถูกต้องด้วยอุปกรณ์พิเศษ รวมถึงแนะนำเรื่องการรักษา และผ่าตัดต่อไปด้วย

ปี 2555 มูลนิธิฯ ได้จัดโครงการผ่าตัดหัวใจ 225 ราย ให้ผู้ป่วยยากไร้ถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมงกุฎิราชกุมาร เท่ากับพระชนมายุรวมทั้ง 3 พระองค์ และในปี 2557 และ 2559 ได้จัดโครงการผ่าตัดหัวใจปีละ 300 ราย ถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธาน

ในด้านการติดต่อต่างประเทศมูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับสหพันธ์หัวใจโรค (World Heart Federation) จัดกิจกรรมวันหัวใจโลกเพื่อส่งเสริมให้มูลนิธิฯหัวใจต่างๆ ทั่วโลก จัดกิจกรรมพร้อมกันเพื่อเน้นเรื่องการลดปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจได้แก่ การงดบุหรี่ การควบคุมความดันโลหิต การรักษาโรคเบาหวาน และการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

เนื่องจากวัตถุประสงค์หลัก ของมูลนิธิข้อหนึ่งคือการส่งเสริม และปฏิบัติการ เพื่อป้องกันและรักษาโรคหัวใจและโรคอื่นอันจะนำอันตรายหรือความพิการมาสู่หัวใจให้กับประชาชนทั่วไปนั้น

ในปี 2560 งานสื่อสารองค์กรของมูลนิธิฯ จึงได้นำหลัก 3 อ.ซึ่งประกอบไปด้วย อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์ เพื่อมาเป็นแนวทางการเผยแพร่ข้อมูล ส่งเสริมความรู้และกระตุ้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพหัวใจของตนเอง โดยการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน เพื่อรักษาสุขภาพหัวใจให้แข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วยด้วยโรคหัวใจ ซึ่งสามารถป้องกันได้ โดยการยึดหลัก 3 อ.ข้างต้น จึงได้ริเริ่มโครงการ หลัก 3 อ ดีใจต่อใจ ขึ้นมา

SPONSORS