x

กินอาหารดี ป้องกันอาการซีด

โภชนาการไม่ดี ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ หรือมีการเสียเลือด ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางได้ง่าย

 

            ไหนลองมาสังเกตตัวเองกันหน่อย ว่าเคยโดนทักว่าซีดบ้างไหม? มองๆดูแล้วผิวพรรณซีดเซียวไม่มีน้ำมีนวลบ้างหรือเปล่า?  หากรู้สึกว่าตัวเองมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ใจสั่น เบื่ออาหาร และหายใจลำบาก สาเหตุอาจจะมาจากการขาดธาตุเหล็กทำให้เกิดภาวะโลหิตจางหรือซีดก็เป็นได้ ธาตุเหล็ก (Iron) เป็นส่วนประกอบของเฮโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง ซึ่งทำหน้าที่ในการนำออกซิเจนจากปอดไปเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย และช่วยขจัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากร่างกาย เมื่อมีธาตุเหล็กเพียงพอ การทำงานของระบบหมุนเวียนโลหิตในร่างกายก็จะดีตามไปด้วย แต่ถ้ามีโภชนาการไม่ดี ได้รับธาตุเหล็กจากอาหารไม่เพียงพอ หรือมีการเสียเลือด ก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางได้ง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หญิงที่มีประจำเดือนและเด็กในวัยเจริญเติบโต

 

ในแต่ละวันควรได้รับธาตุเหล็กมากน้อยแค่ไหน

        สำหรับวัยผู้ใหญ่จะมีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าวัยเด็ก และในเพศหญิงจะมีความต้องการธาตุเหล็กมากกว่าเพศชาย เนื่องจากมีการสูญเสียเลือดขณะที่มีประจำเดือน ซึ่งความต้องการในวัยผู้ใหญ่ของเพศหญิงจะอยู่ประมาณ  24.7 มิลลิกรัมต่อวัน และเพศชายประมาณ  10.4 มิลลิกรัมต่อวัน

        แหล่งอาหารของธาตุเหล็ก พบมากในแหล่งอาหารที่มาจากสัตว์ เช่น เลือด ตับ เนื้อสัตว์ต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกตระกูลเนื้อแดง เนื้อหมู เนื้อวัว เครื่องในสัตว์ เป็นต้น ร่างกายจะสามารถดูดซึมและนำไปใช้ได้ดี โดยไม่ต้องอาศัยกรดเกลือในกระเพาะอาหาร ร่างกายสามารถดูดซึมธาตุเหล็กประเภทนี้ได้ดี ดังนั้นคนที่มีความต้องการธาตุเหล็กสูง ควรกินอาหารประเภทนี้เป็นประจำสัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม ก็ยังพบได้ในอาหารประเภทธัญพืช ผักใบเขียวเข้ม เช่น ผักคะน้า ผักบุ้ง ใบแมงลัก ผักกูด ผักแว่น รวมทั้งถั่วเมล็ดแห้งต่าง ๆ แป้งสาลี (และผลิตภัณฑ์ ) ที่นำเข้าจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบังคับให้เติมธาตุเหล็ก แต่ธาตุเหล็กจากพืชนั้นร่างกายจะดูดซึมธาตุเหล็กไปใช้ได้น้อยกว่าที่มีจากสัตว์เท่านั้น ดังนั้นเวลาเราเลือกรับประทานควรเลือกสลับกับระหว่างจากเนื้อสัตว์และพืชผัก เพื่อให้ได้รับธาตุเหล็กให้เพียงพอ

           

เอกสารอ้างอิง

-ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวัน (Dietary Reference Intake) พ.ศ.2546 เข้าถึงได้จาก

http://food.fda.moph.go.th/Rules/dataRules/4-4-9DRI.pdf

-วันทนีย์ เกรียงสินยศ(2552) รู้กิน รู้โรค, หมอชาวบ้าน:กรุงเทพฯ   

 

บทความยอดนิยม

SPONSORS