x
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการแน่นหน้าอก หรือเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง ในรายที่เป็นรุนแรง และเกิดภาวะเส้นเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน ทำให้หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ การรักษาในขณะที่หลอดเลือดตีบ ย่อมดีกว่าปล่อยให้หลอด
เลือดอุดตันเฉียบพลัน
ปัจจุบัน การรักษาโรคนี้มี 3 วิธี คือ
1. ยา โดยการให้ยาต้านเกร็ดเลือด ยาขยายเหลอดเลือด ยารักษาหลอดเลือดแข็ง และยาควบคุมไขมัน ถ้าหลอดเลือดหัวใจตีบมากเกิน 70% การรักษาด้วยยาอย่างเดียวย่อมไม่ได้ผล ต้องพึ่งวิธีการรักษาโดย
2. การขยายบอลลูนหลอดเลือดหัวใจ พร้อมทั้งใส่ขดลวดค้ำยัน ถ้ารอยโรคมีหลายตำแหน่ง ตีบหลายเส้น หรือมีหินปูนเกาะเยอะมาก ยากที่บอลลูนจะขยายออก ก็ต้องรักษาโดย
3. การผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือดหัวใจ (บายพาส)
การทำบอลลูนนั้น สามารถทำการขยายหลอดเลือดผ่านทางสายสวนได้ 2 ทาง คือทางหลอดเลือดแดงบริเวณข้อมือ และบริเวณขาหนีบ ขึ้นอยู่กับความชำนาญของแพทย์ เมื่อทำการเจาะเส้นเลือดแล้ว ก็จะใส่ลวดนำ ใส่สายสวน เพื่อฉีดสีตรวจ เมื่อตรวจพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน แพทย์จะใช้ลวดพิเศษ เพื่อผ่านรอยตีบตันไปยังเส้นเลือดส่วนปลาย
หลังจากนั้น ก็จะนำบอลลูนไปขยายบริเวณที่ตีบ เมื่อเรียบร้อยแล้วก็จะใส่ขดลวดพยุงค้ำยัน เพื่อไม่ให้หลอดเลือดที่ขยายยุบตัวลงมา โดยขดลวดค้ำยันนั้นมี 3 แบบ คือ แบบไม่เคลือบยา แบบเคลือบยา และแบบละลายได้ ปัจจุบันข้อมูลที่ดีที่สุดคือ แบบเคลือบยา ซึ่งมีโอกาสกลับมาตีบใหม่ได้ประมาณ 5%
ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่ขาดยา ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ ความดันโลหิต เบาหวาน ไขมัน และการเลิกสูบบุหรี่ได้ดี เมื่อมีการตีบใหม่ ก็สามารถทำบอลลูนซ้ำได้ ในขณะทำบอลลูนแพทย์อาจจะใช้กล้องส่องผ่านหลอดเลือด (Intravascular ultrasonography หรือ IVUS)เพื่อตรวจประเมินหลอดเลือดหัวใจก่อนและหลังทำบอลลูน
โดยทั่วไปประมาณ 90% ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยการทำบอลลูนในการทำบอลลูนจะใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 1-3 วัน ถ้าทำไม่ได้เพราะรอยโรคเยอะมาก หรือมีรอยโรคที่ซับซ้อน ต้องทำบอลลูนทั้งเส้น หรือต้องทำหลายครั้ง อายุรแพทย์หัวใจก็จะส่งปรึกษาศัลยแพทย์ทรวงอกเพื่อทำการผ่าตัดบายพาส
การผ่าตัดบายพาส คือ การผ่าตัดเบี่ยงทางเดินหลอดเลือดหัวใจ โดยหลอดเลือดที่จะนำมาใช้ ได้แก่ เส้นเลือดแดงบริเวณหน้าอก บริเวณข้อมือ และเส้นเลือดดำบริเวณขา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเส้นเลือดว่าตำแหน่งไหนดีกว่า การผ่าตัดก็จะทำการผ่าตัดเปิดหน้าอก แล้วทำการต่อเส้นเลือดที่ได้มา ต่อเชื่อมเข้ากับหลอดเลือดแดงใหญ่หรือเอออร์ต้าไปยังส่วนปลายของหลอดเลือดแดงหัวใจที่มีการอุดตัน เพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจให้เพียงพอ
การผ่าตัดบายพาส จะมีอายุการใช้งาน เนื่องจากเป็นอะไหล่ ถ้าใช้เป็นเส้นเลือดดำจะมีอายุใช้งานอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปีขึ้นไป โดยจะมีโอกาสกลับมาตีบตันหรือเสื่อมประมาณ 50% ถ้าใช้เส้นเลือดแดงหลอดเลือดจะมีอายุใช้งานอยู่ที่ 10 ปีขึ้นไป โดยจะมีโอกาสกลับมาตีบตันหรือเสื่อมประมาณ 5-10% ในกรณีดังกล่าวนั้น แพทย์จะทำการรักษาโดยการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดธรรมชาติ หรือหลอดเลือดที่ทำบายพาสตามดุลยพินิจของแพทย์ ในการทำบายพาสจะใช้เวลารักษาตัวในโรงพยาบาลประมาณ 7-10 วัน
ข้อพิจาณา ในการรักษาด้วยบอลลูน หรือบายพาสนั้น โดยพิจารณาจากสภาพและโรคประจำตัวของผู้ป่วย ความซับซ้อนของรอยโรคหลอดเลือดหัวใจ โอกาสความสำเร็จในการทำ และผลแทรกซ้อนในการรักษา ซึ่งอายุรแพทย์หัวใจผู้ให้การรักษาจะให้ข้อมูลกับตัวผู้ป่วยและญาติก่อนทำการรักษา
เรียบเรียงโดย นพ.เกรียงไกร เฮงรัศมีหัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก