x

สงสัยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ รีบไปหาหมอ อย่ารอนาน

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง แน่นหน้าอก ปวดร้าวไปกราม คอหอย หรือแขนด้านในบริเวณสะบักทั้งสองข้าง เป็นมากเวลาออกกำลังกาย เวลาเครียด

 
อาการและปัจจัยเสี่ยง
   ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจมักจะมาพบแพทย์ด้วยอาการเหนื่อยง่ายเวลาออกแรง แน่นหน้าอก ปวดร้าวไปกราม คอหอย หรือแขนด้านในบริเวณสะบักทั้งสองข้าง เป็นมากเวลาออกกำลังกาย เวลาเครียด เมื่อหายเครียด นั่งพัก แล้วอาการดีขึ้น ให้นึกถึงว่าอาจจะมีหลอดเลือดหัวใจตีบ หรืออุดตันไปบางเส้นแล้ว

 

   บางคนอาจมาด้วยสาเหตุเหนื่อยง่าย เป็นลม หรือที่น่ากลัวที่สุดคือ ไม่มีอาการ ประมาณ 1 ใน 5 อาจจะไม่มีอาการ แต่จะมีโรคหลอดเลือดหัวใจแฝงอยู่

 

เมื่อไรควรไปพบแพทย์
    ถ้ามีอาการดังกล่าวข้างต้นที่เป็นทันที รุนแรงและเป็นมากให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้บ้านที่มีหมอหัวใจหรืออายุรแพทย์โดยด่วน ถ้าฉุกเฉินมากโทรเรียก 1669 เพื่อนำส่งโรงพยาบาล


   เมื่อมีอาการดังกล่าวเป็นครั้งคราวหรือเป็นบ่อยๆ ควรจะไปพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี หรืออายุมากกว่า 40 ปี ในรายที่มีประวัติในครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมันสูง เป็นต้น มีสูบบุหรี่ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่าจะมีโรคหลอดเลือดหัวใจซ่อนอยู่หรือไม่

 

แพทย์จะตรวจอะไรบ้าง?

1. ตรวจเบื้องต้น

  - ตรวจร่างกาย ถามประวัติโดยละเอียดตรวจเลือดดูระดับน้ำตาล ไขมัน การทำงานของไต เป็นต้น

  - ส่งตรวจ X-Ray ปอด และหัวใจ เพื่อดูว่าเป็นหัวใจโต หลอดเลือดแดงโป่งพองหรือไม่ 

  - ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 

  - การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยการเดินสายพานบนลู่วิ่ง(Exercise stress test หรือ EST) ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้มาตรวจ

ถ้าวิ่งได้เกิน 9 นาที ถือว่าปกติ มีโอกาสปลอดภัย 85% ถ้าวิ่งได้ 6 นาที มีโอกาสปลอดภัย 20%

ถ้าเดินสายพาน แล้วมีหลักฐานว่าหัวใจขาดเลือด คลื่นไฟฟ้าที่ผ่านกล้ามเนื้อหัวใจที่ขาดเลือดจะมีความผิดปกติ สามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบและนำไปตรวจโดยการฉีดสี

บางรายอาจจะปวดข้อเข่า เข่าไม่ดี เดินไม่ไหว สภาพร่างกายไม่เหมาะสม ก็อาจจะทำการตรวจไม่ได้ ไม่สามารถแปลผลได้ ต้องตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ

 

- การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ (Echo) ใช้ตรวจในรายที่ X-Ray แล้วพบว่ามีหัวใจโต หรือ
แพทย์ตรวจร่างกายแล้วพบหัวใจห้องซ้ายล่างบีบตัวอ่อน หรือลิ้นหัวใจรั่ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเส้นเลือดตีบหรือไม่ ยกเว้นเส้นเลือดหัวใจอุดตัน มีขาดเลือดรุนแรง กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวน้อยหรือไม่บีบตัวเลย การตรวจนี้ก็จะสามารถบอกได้


    อย่างไรก็ตาม การตรวจทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้น เป็นการตรวจเพื่อหาหลักฐานทางอ้อม ว่ามีภาวะหัวใจขาดเลือด หรือกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือไม่ คงต้องตรวจเพิ่มเติมต่อไปด้วยการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ

 

2. การฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ

- Coronary Computed Tomography Angiography (Coronary CTA)เหมาะสำหรับผู้ที่มี
ผลการตรวจแบบทั่วไปก้ำกึ่งทุกอย่าง บอกได้ไม่ชัดเจน แต่มีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน เป็นต้น และมีอาการที่น่าสงสัยว่าเป็นหลอดเลือดหัวใจตีบ แพทย์ก็จะทำการส่งไปตรวจ Coronary CTA ซึ่งเป็นการฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำ และเข้าเครื่องสแกนคอมพิวเตอร์ตรวจหลอดเลือดหัวใจ แต่จะทำไม่ได้ทุกราย ในบางรายที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวไม่ดี โรคไต หรือผู้ป่วยเป็นโรคกลัวที่แคบ ก็จะไม่สามารถทำได้

- การฉีดสีตรวจหลอดเลือดแดงหัวใจ (Coronary angiography )โดยการเจาะหลอดเลือดแดง
บริเวณข้อมือ หรือขาหนีบ แล้วทำการใส่สายสวนเพื่อทำการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งเป็นการตรวจที่เป็นมาตรฐาน ในรายที่ผลการตรวจ EST เห็นผลชัดเจนว่ามีหัวใจขาดเลือด หรือทำ Echo แล้วเห็นว่ากล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนบีบตัวไม่ดี จะใช้การฉีดสีตรวจ

เมื่อทำการตรวจแล้วพบว่ามีหลอดเลือดหัวใจตีบที่รุนแรง หรืออุดตัน แพทย์ก็จะสามารถวางแผนการรักษาต่อด้วยการใส่บอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจ หรือส่งปรึกษาศัลยแพทย์เพื่อทำการผ่าตัด By Pass

หลังจากการฉีดสีแล้ว ถ้าบางรายที่มีปัญหาว่ากล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวน้อยมาก และกล้ามเนื้อหัวใจบาง แพทย์อาจจะส่งไปตรวจ Cardiac magnetic resonance imaging หรือ CMRI เพื่อดูว่ากล้ามเนื้อส่วนที่บาง เป็นกล้ามเนื้อส่วนที่ขาดเลือด หรือตายแล้ว ถ้าเป็นส่วนที่ตายแล้ว แพทย์ก็จะแนะนำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
    


เรียบเรียงโดย นพ.เกรียงไกร  เฮงรัศมี 
หัวหน้ากลุ่มงานอายุรศาสตร์หัวใจ สถาบันโรคทรวงอก

 

SPONSORS